วันพุธที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2559

10 สัญญาณที่บ่งบอกอาการสมองเสื่อม

ท่านผู้สูงอายุที่อยู่ในวัยเกษียณมานานบางท่าน อาจจะเริ่มหรือกำลังเบื่อในการใช้ชีวิตประจำวันที่มองดูโดยรวมว่า มันช่างซ้ำซาก และจำเจ  กิจวัตรประจำวันส่วนใหญ่ ประกอบด้วยการออกกำลังกายเดินเหิน อ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง ทำสวน เลี้ยงหลาน และพบปะสังสรรค์เพื่อนเก่าบ้างในบางครั้ง

ท่านทราบหรือไม่ว่า ทุกอย่างที่ท่านปฏิบัติประจำวันอยู่นั้น ไม่ว่ามันจะดูธรรมดา ราบเรียบ ไม่มีอะไรใหม่ให้น่าตื่นเต้นนั้น ล้วนแต่มีประโยชน์ต่อสุขภาพของตัวท่านทั้งนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการทำงานที่เป็นปรกติของสมองของผู้สูงวัย

โรคภัยไข้เจ็บที่ผู้สูงวัยส่วนมากต้องเฝ้าระวังตัวเองและเป็นที่รู้จักกันดี ก็จะมีโรคความดันสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคระบบทางเดินหายใจ โรคระบบทางเดินอาหาร และโรคมะเร็งต่างๆ

แต่ก็ยังมีอีกโรคหนึ่งที่ผู้คนอาจจะให้ความสำคัญน้อยกว่าโรคที่กล่าวมาข้างต้น ทั้งๆ ที่โรคนี้มีโอกาสจะเกิดขึ้นกับท่านผู้สูงอายุได้ไม่น้อย และสามารถเป็นได้แบบไม่รู้ตัว อาการจะค่อยเป็นค่อยไปจนตัวเองหรือคนข้างเคียงไม่อาจรู้หรือไม่ทันสังเกตได้  กว่าจะรู้ว่า ตัวเองกำลังเริ่มต้นจะมีอาการ โรคนี้ก็ได้พัฒนาไประดับหนึ่งแล้ว จนตัวเองหรือบรรดาเหล่าญาติๆ อาจจะตั้งตัวไม่ทัน

โรคที่ว่านี้ก็คือ  โรคสมองเสื่อม หรือ ภาวะสมองเสื่อม (Dementia)

ภาวะสมองเสื่อม เป็นคำรวมๆ ที่ใช้เรียกโรคที่เกี่ยวกับการเสื่อมถอยของเซลล์สมองที่จะทำให้ความทรงจำของเราค่อยๆ สูญหายไป พวกเราอาจจะรับรู้ถึงความร้ายแรงของโรคนี้จาก 2 โรคที่รู้จักกันดี คือ โรคพาร์กินสัน กับโรคอัลไซล์เมอร์  ซึ่งถ้ามันบังเอิญโชคร้ายจะเกิดขึ้นกับท่านผู้ใดแล้วล่ะก็ เรียกได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นโรคไหน มันก็แย่พอๆ กันทั้งสองโรค 

ผู้เขียน ซึ่งก็เป็นผู้สูงวัยคนหนึ่ง ต้องขอออกตัวว่า ไม่ใช่แพทย์  ดังนั้นข้อมูลต่าง ๆ ที่จะเล่าสู่กันฟังต่อไปนี้ เป็นข้อมูลทางวิชาการที่ได้ค้นคว้ามาจากแหล่งความรู้ต่างๆ  หากมีข้อความผิดพลาดประการใด ต้องขออภัยต่อท่านผู้อ่านล่วงหน้ามา ณ ที่นี้

เรามาเริ่มต้นที่ 10 สัญญาณที่บ่งบอกอาการสมองของเราอาจกำลังเริ่มมีปัญหา (ข้อมูลจากนสพ. ผู้จัดการ INFO):-

1)   การสูญเสียความทรงจำในระยะสั้น ที่กระทบต่อการทำงาน
เช่น เมื่อวาน ตัวเองเคยตกลงกับลูกค้าเรื่องหนึ่งไว้ แต่พอวันต่อมา ก็ไม่ได้ทำตามข้อตกลงนั้นเฉยเลย เพราะตัวเองจำไม่ได้ว่าได้เคยสัญญิงสัญญาอะไรไว้  ลองถ้าเป็นแบบนี้กับเจ้าของกิจการ และเป็นเรื่องใหญ่ ธุรกิจต้องพลอยเสียหายมากอย่างแน่นอน บริษัทนั้นๆ เตรียมตัวเจ๊งได้เลย
2)   สิ่งที่เคยทำเป็นประจำ เริ่มทำไม่เป็น
เช่น เคยทำงานสิ่งหนึ่งได้เป็นประจำปรกติ  แต่แล้วอยู่ๆ ก็ทำไม่ได้ไปซะแล้ว เกิดจำไม่ได้ว่า เคยทำมันได้อย่างไร  แบบนี้มันก็ชักจะยุ่งอีกเหมือนกัน
3)   ปัญหาด้านภาษา เลือกคำพูดไม่ค่อยถูก
เคยพูดคล่องแคล่วต่อสาธารณะ มีสำนวนโวหารดีจนใครๆ ฟังก็ชื่นชม แต่ต่อมาความสามารถในการแสดงออกทางคำพูดค่อยๆ สูญหายไป  เมื่อจะเล่าเหตุการณ์อะไร ก็มักนึกคำพูด หรือประโยคสนทนาไม่ค่อยได้คล่องเหมือนอย่างเคย
4)   ไม่รู้เวลาและสถานที่
สับสนเรื่องเวลาว่า ตอนนี้มันกี่โมงกี่ยาม เป็นกลางวันหรือกลางคืน  หรือเกิดงงว่า ตอนนี้ตัวเองกำลังอยู่ที่ไหน หรือกำลังจะไปไหน ถ้าเกิดเป็นแบบนี้ อาการน่าจะหนักแล้วพอควร
5)   สูญเสียการตัดสินใจ
ตัดสินใจไม่ได้ แม้แต่เรื่องเล็กๆ ว่า ควรจะทำอะไรก่อนอะไรหลัง หรือจะทำไม่ทำอะไร
6)   ไม่ค่อยเข้าใจความคิดที่เป็นนามธรรม
ทำนองว่า ใครพูดเรื่อง ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ หรือ มีคำว่า บูรณาการอยู่ทุกประโยค ชักจะฟังไม่เข้าใจ ข้อนี้ อาจจะเป็นธรรมดา สำหรับคนไทยในยุคหนึ่ง
7)   วางของผิดที่ แบบแปลกๆ
เช่น เอากุญแจรถไปวางเก็บในตู้เย็น  อันนี้ จะต่างกับแบบที่พวกเราเป็นกันประจำ เช่น หากุญแจรถไม่เจอ เพราะไปวางผิดที่จากที่เคยวาง เช่น เคยวางบนโต๊ะ กลับมาพบว่า มันอยู่บนชั้นวางของ  ทั้งโต๊ะและชั้นวางของไม่ถือว่า เป็นที่วางแปลกๆ  แต่ในตู้เย็นนี่ล่ะก็ใช่แน่ เพราะไม่มีใครจะเอากุญแจรถไปใส่ในตู้เย็น ถ้าไม่เมาสุดๆ
8)   อารมณ์หรือพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง
เดี๋ยวอารมณ์ดี  เดี๋ยวอารมณ์ร้าย ฉุนเฉียว แบบไม่ค่อยมีเหตุผล แต่ถ้าเดิมก็เป็นคนแบบนี้อยู่แล้ว ก็ไม่อยู่ในเกณฑ์ 
9)   บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง
เคยต้องแต่งตัวเนี๊ยบก่อนออกจากบ้าน  มาตอนนี้ กลับแต่งตัวลวกๆ แบบซกม๊กไม่แคร์ใคร 
10) สูญเสียความคิดริเริ่ม
ไม่สามารถจะคิดริเริ่มในการทำงานอะไรได้  ทั้งที่ ก่อนหน้านี้ต้องแย่งเป็นผู้นำเพียงอย่างเดียวในทุกเรื่อง จะชิงแย่งคนอื่นทำงานสำคัญๆ ก่อนเสมอ

อย่างไรก็ดี ผู้เขียนคิดว่า 10 สัญญาณข้างต้น  จะถือเป็นข้อสรุปชี้ขาดไม่ได้ว่า  ถ้าท่านเกิดบังเอิญมีอาการตรงกับข้อหนึ่งข้อใด หรือหลายๆ ข้อ ท่านต้องมีอาการสมองเสื่อมแน่นอน  ผู้ที่จะสามารถวินิจฉัยโรคของผู้ป่วยอย่างถูกต้อง ควรต้องเป็นแพทย์เฉพาะทางเท่านั้น  โดยหลักเกณฑ์ทางการแพทย์ที่ละเอียดมากกว่านี้

(ยังมีต่อครับ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น