วันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2558

1 ตค. วันผู้สูงอายุสากล

วันนี้ ผู้เขียนได้อ่านข่าวที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุในวัยเกษียณ จากเว๊ป manager online
เห็นว่า มีประโยชน์ต่อผู้สูงวัยอย่างผู้เขียน ก็เลยอยากจะนำมาแชร์ให้อ่านทั่วกันในที่นี้ 

ต้องขอขอบพระคุณ manager online ด้วยนะครับ


สธ. ห่วงคนวัยเกษียณปรับตัวไม่ทัน มีเวลาว่าง ไม่ได้ทำงานพบปะผู้คน เสี่ยงภาวะซึมเศร้า เหงา เครียด แนะปรับมุมมองการใช้ชีวิต คิดบวก เตรียมตัวหากลุ่มเพื่อน กลุ่มกิจกรรมก่อนเกษียณ แนะการดูแลอาหาร สุขภาพวัยเกษียณ เผย 3 แนวทางเป็นผู้เกษียณอย่างมีความสุข 

        นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า วันที่ 30 ก.ย. ของทุกปีถือเป็นวันสุดท้ายของการทำงานในผู้ที่เกษียณอายุราชการ โดยหลังจากนี้ผู้เกษียณจะมีเวลาว่างมากขึ้น ทำให้หลายคนอาจปรับตัวไม่ทัน เพราะที่ผ่านมาต้องทำงานพบปะเพื่อนร่วมงานทุกวัน อาจเกิดภาวะซึมเศร้า เหงา เครียดได้ ดังนั้น ผู้ที่จะเกษียณจึงควรเตรียมตัวเตรียมใจ ไม่วิตกกังวลเกินไปกับชีวิตหลังเกษียณ มองโลกในแง่ดี คิดบวก ให้เวลากับการดูแลสุขภาพ ออกกำลังกาย อยู่กับครอบครัว ทำงานอดิเรกที่ชอบ พักผ่อนอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ ช่วงก่อนเกษียณควรมีการเตรียมตัวหากลุ่มเพื่อน กลุ่มเครือข่ายต่าง ๆ ไว้ หรืออาจหากลุ่มสมาชิกผู้สูงอายุใกล้ ๆ เพื่อจะได้ร่วมกิจกรรมต่าง ๆ
       
       “สำหรับการดูแลด้านอาหารของวัยเกษียณ ซึ่งเป็นวัยสูงอายุด้วยนั้น แนะนำให้กินอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ และหลากหลาย เลือกกินข้าวกล้อง ผักมื้อละ 2 ทัพพี และผลไม้วันละ 3 - 5 ส่วน จะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด และโรคมะเร็ง กินปลาเป็นหลัก สลับกับเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน ดื่มนมวันละ 1 แก้ว เพื่อรับแคลเซียมและวิตามิน เลือกกินอาหารที่มีไขมันแต่พอควร ปรุงอาหารด้วยวิธี ต้ม นึ่ง อบ แทนการทอด เลี่ยงอาหารรสหวานจัด เค็มจัด หากมีปัญหาสุขภาพช่องปากควรดัดแปลงอาหารให้อ่อนนิ่ม หรือมีขนาดเล็กลง สับหรือบดให้ละเอียดก่อนนำมาปรุง นอกจากนี้ ควรออกกำลังกายสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที แบบที่ไม่ใช้แรงกระแทก เพราะจะทำให้เข่ารับน้ำหนักมากขึ้นจนเสื่อม” รมว.สาธารณสุข กล่าว
       
       นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การเตรียมสะสมเงินสำรองไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณอายุ ประมาณการรายรับ - รายจ่ายในแต่ละเดือน จะช่วยลดปัญหาและภาวะเครียดจากค่าใช้จ่ายที่ไม่พอใช้ได้ รวมทั้งการเตรียมความพร้อมของที่อยู่อาศัย จัดบ้านและสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม โดยคำนึงถึงความปลอดภัย เพื่อลดอุบัติเหตุและอันตรายต่าง ๆ เช่น ใช้วัสดุกันลื่นในห้องน้ำ มีราวจับ ใช้โถส้วมแบบนั่งราบ จัดบ้านให้โล่งและอากาศถ่ายเทได้สะดวก สำหรับลูกหลานและญาติควรให้ความสำคัญและเวลากับผู้สูงอายุ จะช่วยให้ผู้เกษียณไม่เหงาและเกิดภาวะซึมเศร้า
       
       นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า 
วันที่ 1 ต.ค. ถือเป็นวันผู้สูงอายุสากลและยังเป็นวันเริ่มต้นชีวิตใหม่ของผู้เกษียณ แม้ว่าสมองของผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จะมีความเสื่อมในด้านจำนวนเซลล์สมอง สารสื่อประสาท หรือหลอดเลือดสมองที่เสื่อมลง ทำให้การเรียนรู้สิ่งใหม่ ความคิด ความจำอาจลดลง แต่สมองส่วนการสร้างสรรค์ของผู้สูงอายุยังคงทำงานได้อย่างดีจนถึงอายุ 90 ปี จึงไม่อยากให้มองว่า เกษียณแล้วจะทําให้กลายเป็นคนชรา ทุกอย่างอยู่ที่มุมมองความคิดของเรา ถ้าคิดในทางบวกช่วงเวลานี้ก็จะเป็นช่วงเวลาที่ดี เพราะมีเวลาได้พักผ่อน ดูแลสุขภาพร่างกาย แต่ถ้าคิดทางลบก็จะเป็นช่วงเวลาที่ทำให้รู้สึกแย่ หากไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจ อาจมีภาวะซึมเศร้า กินไม่ได้นอนไม่หลับ คิดว่าถูกทอดทิ้ง และมองตัวเองไม่มีคุณค่า
       
       “แนวทางอยู่อย่างมีความสุขในวัยเกษียณ 
1. ต้องสร้างคุณค่าให้ตัวเอง ทำในสิ่งดี ๆ ให้กับตนเองและผู้อื่น ไม่เปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น ทำความสำเร็จเล็ก ๆ ในแต่ละวัน และมีความสุขกับสิ่งเล็ก ๆ นั้น 
2. สร้างสุขภาพกายและใจให้ตนเอง ทั้งอาหารการกิน การตรวจสุขภาพ การฝึกจิต ฝึกสมาธิ ทำจิตใจให้สดใส เมื่อใดที่รู้สึกหดหู่ เหงา เศร้า ไม่สดชื่น ต้องรู้ตัว รีบปรับตัว อยู่กับคนที่รัก ไปพบเพื่อนฝูง พุดคุยปรึกษาปัญหา ทำกิจกรรมที่ชอบ ถ้าทำทุกอย่างแล้วไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาจิตแพทย์ 
3. สร้างกิจกรรมที่หลากหลายตามสภาวะของร่างกาย ทั้งกิจกรรมในบ้าน นอกบ้าน ทำคนเดียวหรือเป็นกลุ่ม ตามความชอบ ความพอใจ รสนิยม และบริบทการใช้ชีวิต เพื่อช่วยกระตุ้นการทำงานของสมอง และร่างกาย ให้มีความคล่องแคล่ว ว่องไว เพื่อเป็นผู้สูงอายุที่ยังคงความหนุ่ม ความสาว ชะลอความเสื่อมให้นานที่สุด” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว